รมช.ศึกษาธิการ ชู “เรืองศรีวิทยา” เป็นตัวอย่างโรงเรียนแห่งนวัตกรรม ปรับตัวก้าวทันสถานการณ์โควิด-19
วันที่ 18 มิถุนายน 2563 เวลา 14.00 น. นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศธ. นายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศธ.ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน ออนไลน์ และออฟไลน์ ของโรงเรียนในเครือเรืองศรีวิทยา พร้อมมอบหน้ากากอนามัยให้แก่โรงเรียนเอกชนและเครือข่ายในอำเภอปากช่อง เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2563 รวมทั้งนำอาหารแห้งและเครื่องอุปโภคบริโภค เติมเต็มในตู้ปันสุขด้านหน้าโรงเรียน โดยมีนายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายชัยณรงค์ ป้องบ้านเรือ รองเลขาธิการ กช. นายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานงาน และส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ปส.กช.) และผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนเรืองศรีวิทยา นายธนากร ดอนเหนือ รองเลขาธิการ กศน. และผู้บริหาร ครู บุคลากรสถานศึกษาเอกชน ร่วมให้การต้อนรับ
“จากการเยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน ออนไลน์ และออฟไลน์ ในระดับปฐมวัยถึงมัธยมศึกษา ทั้งการศึกษาเพื่อการประกอบอาชีพ สมรรถนะอาชีพระยะสั้น โครงการบ้านวิทยาศาสตร์น้อย สร้างนักออกแบบและวางแผนรวมกับ STEM การสอบออนไลน์ e-testing นวัตกรรมการบริหารและการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาวิชาชีพครู และให้วิทยฐานะครูโรงเรียนเอกชน การจัดสวนพฤกษศาสตร์ ที่ให้ความรู้ด้านวิชาการเรื่องพันธุ์ไม้ ภูมิปัญญา และคุณธรรมจริยธรรม และที่สำคัญคือ การจัดการศึกษาภายใต้สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) เพื่อส่งเสริมการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2563 “เปลี่ยนบ้านเป็นห้องเรียน เปลี่ยนผู้ปกครองเป็นครู” สามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดี และสอดคล้องเท่าทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งยังเป็นไปตามมาตรการกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข เหมาะแก่การเป็นตัวอย่าง ให้โรงเรียนและสถานศึกษาอื่นทำตาม
ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบนโยบายให้ สช.ส่งเสริมด้านวิชาการเรียนการสอน ให้ความช่วยเหลือ และดูแลสวัสดิการผู้บริหาร ครู ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ไม่ว่าจะเป็น จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจช่วยเหลือโรงเรียนเอกชน พร้อมตั้งคณะทำงานตรวจติดตามมาตรการรองรับการเปิดภาคเรียน โรงเรียนเอกชนทั้งในระบบและนอกระบบทั่วประเทศ และที่สำคัญคือ จัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้ด้วยระบบดิจิทัล สช.” เป็นคลังนวัตกรรมทางการศึกษา ร่วมกับพันธมิตรด้านการศึกษา 21 ราย ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต หรือการเรียนแบบออนไลน์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ประกอบด้วย ระบบรับสมัครออนไลน์ (Online Admission System) ระบบบริหารการเรียน (Learning Management System: LMS) และสื่ออิเล็กทรอนิกส์
โดยเฉพาะในส่วนของสวัสดิการ ได้ดำเนินการในหลายส่วนเพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องและฝ่าวิกฤต COVID-19 ได้อย่างเข้มแข็ง ทั้งให้โรงเรียนเอกชนในระบบ กู้ยืมเงินจากกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ ไม่เกิน 5 แสนบาทต่อโรงเรียน เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องและพัฒนาการเรียน รวมทั้งผ่อนผันการชำระเงินกู้ยืมและเงินยืม, ประสานสำนักงานประกันสังคม เพื่อให้ครูและบุคลากรของโรงเรียนเอกชน (ผู้ประกันตนตามมาตรา 33) กว่า 1 แสนราย ได้รับเงินชดเชย 62%, การลงทะเบียนรับเงินเยียวยาตามมาตรการของรัฐบาล 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน, ขอให้มีการยกเว้นป้ายภาษีของโรงเรียนเอกชนในระบบและนอกระบบ และลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโรงเรียนเอกชนนอกระบบ อีก 4 ประเภท (ศิลปะและกีฬา วิชาชีพ กวดวิชา และสร้างเสริมทักษะชีวิต), การเสนอขอวงเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) สำหรับบริหารกิจการโรงเรียน กว่า 4.3 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมระดับจังหวัด ได้จัดสรรงบประมาณ สช. ปี 2563 กว่า 29 ล้านบาท เพื่อให้ศึกษาธิการจังหวัด และ ปส.กช. ในการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษา ด้วย” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว