ลูกหลานย่าโมเฮ ! คมนาคม คาดใช้งบ 3.2 หมื่นล้าน พัฒนาโครงการสร้างรถไฟฟ้าในตัวเมืองโคราช 3 ระยะ
หลังจากที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งเกี่ยวกับกระทรวง โดยระบุว่า หลังจากในที่ประชุมได้อนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกา ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สามารถดำเนินกิจการรถไฟฟ้า ในจังหวัดนครราชสีมา เพื่อเพิ่มปริมาณการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อลดปัญหาการจราจร และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ได้นั้น
ล่าสุด นายอาคม ยังได้เปิดเผยอีกว่า สำหรับรูปแบบการดำเนินโครงการดังกล่าว ตามผลการศึกษาของ สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. ระบุว่ารูปแบบการของโครงการที่ใช้จะมีลักษณะเป็นรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit-LRT) ซึ่งจะใช้เงินลงทุนประมาณ 32,600 ล้านบาท โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 3 ระยะ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2563
โดยระยะที่ 1 จะเริ่มขึ้นในปี 2563 – 2565 วงเงินรวม 13,600 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 เส้นทาง
- สายสีส้ม ดำเนินการในช่วง แยกประโดก – ถนนช้างเผือก – คูเมืองเก่า ระยะทาง 9.81 กม. แบ่งออกเป็น 17 สถานี วงเงิน 8,400 ล้านบาท
- สายสีเขียว ดำเนินการในช่วง ตลาดเซฟวัน – ถนนมุขมนตรี – สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ระยะทาง 11.17 กม. แบ่งเป็น 18 สถานี วงเงิน 5,200 ล้านบาท
ระยะที่ 2 จะเริ่มขึ้นในปี 2566 – 2568 วงเงินรวม 4,800 ล้านบาท
- สายสีม่วง ดำเนินการในช่วง ตลาดเซฟวัน – ถนนมิตรภาพ – สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ระยะทาง 11.92 กม. แบ่งเป็น 9 สถานี
ระยะที่ 3 วงเงินรวม 14,200 ล้านบาท เป็นส่วนต่อขยายจากเส้นทางต่างๆ ดังนี้
- เส้นทางสีส้ม ดำเนินการในช่วง โรงเรียนเทศบาล 1 – หัวทะเล – ดูโฮม ระยะทาง 5.37 กิโลเมตร
- เส้นทางสีเขียว ดำเนินการในช่วง สถานีทดลองการใช้น้ำชลประทานที่ 3 (ห้วยบ้านยาง) – ตลาดเซฟวัน และช่วง สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ – สำนักงานขนส่งจังหวัดนครราชสีมา สาขา 2 รวมระยะทาง 23.29 กม.
- เส้นทางสีม่วง ดำเนินการในช่วง มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล – แยกจอหอ – ค่ายสุรนารายณ์ ระยะทาง 4.48 กม.
ทั้งนี้โครงการดังกล่าว รฟม. อยู่ระหว่างจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษา เพื่อศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมทุน (PPP) พร้อมกับดำเนินการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือ EIA