นายกเมืองปากช่อง เรียกฝ่ายเกี่ยวข้องถกปัญหาการก่อสร้างรถไฟรางคู่ ในเขตเมืองปากช่อง
เวลา 10.00 น. วันที่ 4 มิถุนายน 2561 นายคมกฤษณ์ ลิ้มปัญญาเลิศ นายกเทศมนตรีเมืองปากช่อง เชิญเจ้าหน้าที่ตัวแทนจาก การรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยตัวแทนจากบริษัท อิตาเลียน-ไทย ผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการรถไฟรางคู่ และผู้นำชุมชนในเขตเทศบาลเมืองปากช่องซึ่งได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการดังกล่าว เพื่อประชุมวางแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างก่อสร้าง และหลังจากโครงการแล้วเสร็จ ณ ห้องประชุมสภาเทศบาลเมืองปากช่อง
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ตัวแทนจากบริษัท อิตาเลียน-ไทย ได้มีการนำเสนอรูปแบบการก่อสร้างจุดตัดข้ามทางรถไฟในแบบต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณใจกลางตัวเมืองปากช่อง จุดเขื่อมต่อถนนสาย 2242 และ 2243 ซึ่งนับว่าเป็นจุดที่มีการจราจรที่หนาแน่น เป็นทางเข้าออกชุมชน ประกอบกับเป็นเส้นทางหลักที่มีรถพ่วงบรรทุกสินค้าการเกษตรใช้เส้นทางเป็นจำนวนมาก โดยทางบริษัทผู้ออกแบบ ได้วางแผนในการก่อสร้างอุโมงค์รอดใต้ทางรถไฟ ซึ่งมีการคาดว่าในระหว่างการก่อสร้างจะมีการส่งผลกระทบต่อผู้ใช้เส้นทางโดยตรง
นายคมกฤษณ์ ลิ้มปัญญาเลิศ นายกเทศมนตรีเมืองปากช่อง กล่าวว่า สำหรับการประชุมในครั้ง ส่วนหนึ่งก็เพื่อได้เปิดโอกาสให้การรถไฟแห่งประเทศไทย รวมถึงบริษัทซึ่งรับผิดชอบโครงการก่อสร้าง ได้มีการชี้แจงรูปแบบแผนงานในการก่อสร้าง ตลอดจนได้รับฟังปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างก่อสร้าง รวมไปถึงความต้องการของประชาชนในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าวโดยตรง เพื่อให้ส่วนเกี่ยวข้องนำไปพิจารณาปรับเปลี่ยนแก้ไขรูปแบบการก่อสร้าง ตลอดจนการหาทางออกร่วมกันในการพิจารณาวิธีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนทั่วไป ก่อนจะมีการเรียกประชุมอีกครั้งเพื่อหาข้อสรุปในการดำเนินการก่อนที่จะมีการเริ่มก่อสร้าง
ด้านนายสุรชัย กนกปิณฑะ ที่ปรึกษาสมาคมขนส่งสินค้าภาคอีสาน เปิดเผยว่า สำหรับเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ก็เพื่อร่วมเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาในส่วนของเส้นทางดังกล่าว เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีรถพ่วงบรรทุกสินค้า และวัตถุดิบทางการเกษตร ใช้เส้นทางเป็นจำนวนมากตลอดทั้งปี เนื่องจากเป็นเส้นทางลัดในการขนส่งสินค้าไปยังพื้นที่ภาคกลางและภาคอีสาน ซึ่งจากข้อมูลที่ได้มา ทราบว่าบริเวณจุดตัดทางรถไฟบริเวณถนนสาย 2242 ต่อสาย 2243 จะมีการก่อสร้างเป็นลักษณะอุโมงค์ทางลอดความสูงมาตรฐาน 5.5 เมตร ประกอบเป็นทางโค้งซึ่งรถพ่วงบรรทุกขนาดใหญ่จะต้องมีการใช้ระยะในการตีวงเลี้ยวค่อนข้างกว้างกว่ารถโดยทั่วไป จึงอยากให้ฝ่ายเกี่ยวข้องพิจารณารูปแบบในการก่อสร้างเพื่อความสะดวกต่อผู้ใช้ทางด้วย เพื่อประโยชน์สูงสุดในการก่อสร้างอุโมงค์ลอดทางรถไฟและลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นต่อประชาชน