รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินโครงการ บ้านน้อยในนิคมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตขอทาน
พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงพื้นที่ หนองสาหร่ายโมเดล ติดตามความคืบหน้าโครงการบ้านน้อยในนิคม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตขอทานและบุคคลไร้ที่พึ่ง เพื่อเพิ่มศักยภาพพัฒนาบุคคลให้สามารถพึ่งพาตนเองได้
เวลา 12.15 น. วันที่ 15 มิถุนายน 2559 พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินโครงการบ้านน้อยในนิคม “เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนขอทาน” โดยมีนายปัญญา วงศ์ศรีแก้ว นายอำเภอปากช่อง นายปิฎก อ่อนแก้ว ผู้ปกครองนิคมสร้างตนเอง ร่วมให้การต้อนรับ นอกจากนี้ยังได้มีการมอบนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนการทำงานในระดับพื้นที่ โดยมุ่งให้เกิดการบูรณาการกับทุกภาคส่วน ทั้งราชการ เอกชน ท้องถิ่นและภาคีเครือข่าย รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพการให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายในระดับพื้นที่ ณ นิคมสร้างตนเองลำตะคอง ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาขอทาน ทำให้ประเทศมีจำนวนคนขอทางลดลง โดยการจัดระเบียบขอทาน ตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน พบขอทานรวม 4,574 คน แยกเป็น ขอทานต่างด้าว 1,665 คน ชาวไทย 2,909 คน โดยขอทานต่างด้าวได้ดำเนินการผลักดันส่งกลับประเทศต้นทาง และขอทานไทยได้ส่งเข้ารับการพัฒนาและฟื้นฟูศักยภาพ ยังสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งภายใต้โครงการ “ธัญบุรีโมเดล” เน้นการพัฒนาและฟื้นฟูศักยภาพคนขอทาน ทั้งด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านสังคมและด้านการประกอบอาชีพ โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ต่อมากรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้ต่อยอดโครงการธัญบุรีโมเดล โดยมีแนวคิดให้คนขอทานที่ผ่านกระบวนการพัฒนาและฟื้นฟูศักยภาพแล้ว ซึ่งมีศักยภาพที่จะสามารถออกมาทดลองใช้ชีวิตแบบอิสระได้ ภายในพื้นที่นำร่องของหน่วยงานในสังกัด 5 จังหวัดได้แก่ นิคมสร้างตนเองห้วยหลง จ.อุดรธานี นิคมสร้างตนเองปราสาท จ.สุรินทร์ นิคมสร้างตนเองประจวบคีรีขันธ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ นิคมสร้างตนเองทุ่งสาน จ.พิษณุโลก และนิคมสร้างตนเองลำตะคอง จ.นครราชสีมา เพื่อเข้าร่วมกิจกรรม “โครงการสร้างชีวิตใหม่ ให้คนขอทาน คนเร่ร่อน คนไร้ที่พึ่ง (บ้านน้อยในนิคม)”
นิคมสร้างตนเองลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา ดำเนินโครงการบ้านน้อยในนิคม โดยได้รับการส่งต่อผู้ใช้บริการ (คนเร่ร่อน คนขอทาน คนไร้ที่พึ่ง) จากสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งชายธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งบ้านเมตตา จังหวัดนครราชสีมา สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทับกวาง จังหวัดสระบุรี สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกุ่มสะแก จังหวัดเพชรบุรี สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าร่วมโครงการและดำเนินการตามวัตถุประสงค์ เตรียมความพร้อมในการคืนสู่สังคม โดยปัจจุบันมีสมาชิกบ้านน้อยนิคมจำนวน 20 ราย โดยสมาชิกบ้านน้อยในนิคมจะได้รับการฝึกทักษะการใช้ชีวิตประจำวัน และการเลือกการประกอบอาชีพในนิคมสร้างตนเอง อาทิ อาชีพทางการเกษตร ได้แก่ การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ การปลูกผักกางมุ้ง การปลูกข้าวโพดหวาน การเลี้ยงไก่ไข่ การเลี้ยงกบ การเลี้ยงปลาดุก การทำไม้กวาดทางมะพร้าว และการฝึกอาชีพช่างตามความถนัด เป็นต้น
พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาขอทานอย่างยั่งยืน ต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบตามหลัก 3P (Policy นโยบาย Protection การให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู และ Prevention การป้องกันในรูปแบบต่างๆ ) ภายใต้แนวคิด “ให้ทานถูกวิธี ลดวิถีขอทาน” รณรงค์สร้างกระแสสังคมและการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับพระราชบัญญัติควบคุมขอทาน พ.ศ.๒๕๕๙ รวมทั้งการรณรงค์ให้ภาคประชารัฐและนักท่องเที่ยวหยุดการให้ทาน เพื่อหยุดปัญหาการขอทาน การแสวงหาประโยชน์ และการค้ามนุษย์ ทั้งนี้หากมีการพบเห็นคนขอทาน และคนไร้ที่พึ่ง สามารถแจ้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC โทร 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง