รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการลงพื้นที่เดินหน้าแก้ไขพื้นที่ศูนย์ปฏิบัติธรรม เวิร์ลพีชวัลเล่ย์ เขาใหญ่
นายณรงค์ คงคำ รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พร้อมคณะลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีปรากฏตามข่าวการสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรม เวิร์ลพีชวัลเล่ย์ เขาใหญ่
เวลา 09.00 น. วันที่ 27 มิถุนายน 2559 นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ มอบหมายให้ นายณรงค์ คงคำ รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พร้อมคณะลงพื้นที่ ณ นิคมสร้างตนเองลำตะคอง ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีปรากฏตามข่าวการสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรม เวิร์ลพีชวัลเล่ย์ เขาใหญ่ ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง
นายณรงค์ กล่าวว่า ตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.๒๕๑๑ บัญญัติไว้ว่า กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการสามารถอนุญาตให้ สมาชิกนิคมสร้างตนเองเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของนิคมฯ ได้ครอบครัวละไม่เกิน ๕๐ ไร่ และเมื่อทำประโยชน์ในที่ดินจนครบหลักเกณฑ์ที่กฏหมายกำหนด สมาชิกนิคมฯจะได้รับหนังสือการแจ้งทำประโยชน์ (น.ค.๓) ซึ่งหนังสือดังกล่าว สามารถนำไปขอออกเป็นฉโนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (นส.๓ก) และเมื่อครบ 5 ปี จะสามารถโอนเปลี่ยนมือให้บุคคลอื่นได้ ซึ่งผู้รับโอน ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกนิคมฯ ทั้งนี้ที่ดินที่ได้รับการโอนจากสมาชิกนิคมฯ จะต้องใช้เพื่อทำการเกษตร ซึ่งหากจะทำการอย่างอื่นได้นั้น ต้องขออนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการก่อสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรมเวิร์ลพีชวัลเล่ย์ เขาใหญ่ ในที่ดินเขตนิคมสร้างตนเองลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา ปรากฎดังนี้
1. พื้นที่ที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมฯ เข้าไปปลูกสร้างอาคารเป็นที่ดิน ที่อยู่ในเขตนิคมสร้างตนเองลำตะคองรวม 499-3-00 ไร่ 20 แปลง แบ่งเป็นเอกสารสิทธิประเภทฉโนด 3 แปลง 62-3-95 ไร่ ประเภท น.ส.3ก. 10 แปลง 230-3-08 ไร่ และที่ดินซึ่งการครอบครอง 7 แปลง 205-3-97 ไร่
2. การตรวจสอบที่ดินพบว่า เป็นชื่อมูลนิธิตะวันธรรม จำนวน 12 แปลง เป็นของบุคคลธรรมดา (มูลนิธิตะวันธรรมใช้ครอบครองเพื่อทำประโยชน์) จำนวน 1 แปลง และอีก 7 แปลงอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลเอกสารสิทธิ์
3. ตามพระราชบัญญัติการจัดการที่ดิน เพื่อการครองชีพ พ.ศ.๒๕๑๑ มาตรา ๘,๙ และ ๑๗ ระบุว่า การใช้ที่ดินในเขตนิคมสร้างตนเอง อย่างอื่นที่นอกจากการทำการเกษตร ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ โดยต้องเสียค่าบำรุงกิจการนิคมไร่ละ 5,000 บาท
ทั้งนี้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติการจัดการที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.๒๕๑๑ โดยจะตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดินพิพาทดังกล่าว และตรวจสอบที่ดินที่มีการครอบครอง 7 แปลง 205-3-97 ไร่ ซึ่งยังไม่พบการออกเอกสารสิทธิ์ ทั้งนี้จะได้ประสานขอเอกสารสิทธิ์ จากสำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาปากช่อง เพื่อดำเนินการตามระเบียบข้อกฎหมายต่อไป