ปศุสัตว์ 3 จังหวัด ร่วมจัดรณรงค์การทำวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยในโคนม รอบที่ 2/2560


ปศุสัตว์เขต 3 จัดโครงการรณรงค์การทำวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย รอบที่ 2 ปล่อยแถวรถประชาสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยในประเทศไทย และลดอุบัติการณ์ของโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

เวลา 09.00 น. วันที่ 23 มีนาคม 2560 ปศุสัตว์เขต 3 จัดโครงการ รณรงค์การทำวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยในโคนม รอบที่ 2 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 โดยมีนายสัตวแพทย์เอกภพ ทองสวัสดิ์วงศ์ ปศุสัตว์เขต 3 พร้อมด้วยตัวแทนจาก ปศุสัตว์เขต 1 ปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา, สระบุรี, ลพบุรีเข้าร่วมพิธี ณ องค์การบริหารส่วนตำบลจันทึก ต.จันทึก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา


สำหรับโครงการรณรงค์การทำวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยในโคนมรอบที่ 2 นั้นเป็นโครงการตามนโยบายของกรมปศุสัตว์  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำลายเชื้อในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งจะมีการดำเนินการในช่วงระหว่างเดือน มีนาคม-พฤษภาคม 2560 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งในการทำโครงการครั้งนี้ได้มีการทำกิจกรรมพร้อมกันในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ลพบุรี  และสระบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่เขตติดต่อโดยรอบจะทำให้การรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยในโคนม รวมทั้งสามารถทำให้สัตว์มีภูมิคุ้มกัน ลดอุบัติการณ์ของโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในการนี้ได้มีการปล่อยแถวขบวนรถรณรงค์ฉีดวัคซีนโรคปากและเท้าเปื่อย การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ การมอบวัคซีนและยาฆ่าเชื้อโรคให้กับเกษตรกรที่มาร่วมงาน


ทั้งนี้ สัตว์ที่จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนโรคปากเท้าเปื่อย ได้แก่ โคนมทั้งประเทศและโคเนื้อ กระบือ แพะ แกะ ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ได้แก่ พื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรรอบตลาดนัดค้าสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ สถานกักกันสัตว์ พื้นที่รัศมี 3 กิโลเมตรรอบสถานที่เลี้ยงโคนม(รวมถึงโคนมทุกตัว)  พื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรรอบจุดที่เคยเกิดโรคปากและเท้าเปื่อยใน 3 ปีที่ผ่านมารวมทั้งพื้นที่อื่นๆ ที่จังหวัดพิจารณาเห็นว่าเป็นพื้นที่เสี่ยง โดยการฉีดวัคซีนจะต้องฉีดในโคนม โคเนื้อ กระบือ แพะ แกะที่มีอายุ 4 เดือนขึ้นไปครอบคลุมไปถึง โค กระบือในโครงการตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่นๆ ฟาร์มโคเนื้อสร้างอาชีพ โครงการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับสินค้าเกษตรที่สำคัญ (Zoning) โครงการอนุรักษ์และพัฒนาการผลิตกระบือ และอื่นๆ  ทั้งนี้ เนื่องจากโรคปากและเท้าเปื่อยเป็นโรคระบาดร้ายแรงในสัตว์กีบคู่ทุกชนิด

Previous Article
Next Article

ใส่ความเห็น

– เยาวชนไทย ก้าวสู่อาชีพในฝัน

คลังข่าวรายเดือน